1 2 3 4
ข่าว และ สาระน่ารู้ >> กฎหมายน่ารู้
กรมโยธาตอบข้อหารือเกี่ยวกับการลงลายมือชื่อในแบบแปลนเพื่อขออนุญาตฯ และการแจ้งชื่อผู้ควบคุมงาน
กรมโยธาตอบข้อหารือเกี่ยวกับการลงลายมือชื่อในแบบแปลนเพื่อขออนุญาตฯ และการแจ้งชื่อผู้ควบคุมงาน

กรมโยธาตอบข้อหารือเกี่ยวกับการลงลายมือชื่อในแบบแปลนเพื่อขออนุญาตฯ และการแจ้งชื่อผู้ควบคุมงาน

เนื่องจากสมาคมได้รับการสอบถาม จากสมาชิกในประเด็นที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้กำหนดวิธีปฏิบัติในการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร ว่าน่าจะไม่เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารหรือไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผลอันสมควร เกี่ยวกับการลงลายมือชื่อผู้รับผิดชอบงานออกแบบในสำเนาเอกสารทุกชุดทุกแผ่น การลงลายมือชื่อผู้รับผิดชอบงานออกแบบในแบบที่ตนไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบและการระบุชื่อผู้ควบคุมงานในขั้นตอนการขออนุญาต
 
ทางสมาคมจึงได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง เมื่อ 24 ม.ค. 2551 และได้รับคำตอบเป็นหนังสือลงวันที่ 3 มี.ค. 2551 ซึ่งมีคำถามและคำตอบ ดังนี้
 
1. คำถาม: ตามปกติในการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร แผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณ ที่ต้องยื่นขออนุญาตมากกว่า 1 ชุด จะเป็นการจัดทำสำเนาจากต้นฉบับ (เช่น พิมพ์เขียว หรือถ่ายเอกสาร) การลงลายมือชื่อของผู้รับผิดชอบงานออกแบบและผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณ ในแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณ ดังกล่าว จะใช้วิธีลงลายมือชื่อในเอกสารต้นฉบับที่นำไปทำสำเนาโดยไม่ต้องลงลายมือชื่อในสำเนาทุกแผ่นทุกชุดได้หรือไม่
 
คำตอบ: วิศวกรและสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารนั้นจะใช้วิธีลงลายมือในเอกสารต้นฉบับที่นำไปทำสำเนาโดยไม่ต้องลงลายมือชื่อในสำเนาทุกแผ่นทุกชุดก็ได้ เพราะตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2528) ข้อ 10 วรรคหนึ่งได้ระบุว่า “...หรือจะใช้สิ่งพิมพ์สำเนา ภาพถ่ายที่ผู้รับผิดชอบงานออกแบบ หรือผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณได้ลงลายมือชื่อพร้อมกับเขียนชื่อด้วยตัวบรรจง และระบุรายละเอียดดังกล่าวแทนก็ได้
 
2. คำถาม: ในการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร สถาปนิก(ผู้รับผิดชอบงานออกแบบ) จะต้องลงลายมือชื่อในแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณทุกแผ่นของวิศวกร (ผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณ) ด้วยหรือไม่ และในทางกลับกัน วิศวกรจะต้องลงลายมือชื่อในแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน ของสถาปนิกด้วยหรือไม่
 
คำตอบ: วิศวกรและสถาปนิกจะต้องลงลายมือชื่อในแบบแปลนทุกแผ่น ทั้งนี้เพราะว่างานทุกระบบในแบบก่อสร้างอาคารหลังเดียวกันจะเกี่ยวข้องกันทั้งหมดและเป็นการตรวจสอบซึ่งกันและกันเพื่อให้งานถูกต้องสมบูรณ์ด้วย
 
3. คำถาม: ในขั้นตอนการยื่นคำขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร กรณีซึ่งไม่ใช่เป็นการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ ผู้ยื่นขออนุญาตจำเป็นจะต้องแจ้งชื่อและยื่นเอกสารรับรองของผู้ควบคุมงานด้วยหรือไม่
 
คำตอบ: ในขั้นตอนการยื่นคำขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร กรณีซึ่งไม่ใช่เป็นการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ ผู้ยื่นขออนุญาตไม่จำเป็นจะต้องแจ้งชื่อและยื่นเอกสารรับรองของผู้ควบคุมงานด้วยเพราะตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้จะต้องระบุชื่อผู้ควบคุมงานพร้อมกับหนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงานหลังจากที่ผู้ขออนุญาตได้รับใบอนุญาตก่อสร้างดัดแปลงแล้ว
 
4. คำถาม: แบบ ข.1 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2528)ฯ หากผู้ยื่นขออนุญาตไม่กรอกข้อความระบุชื่อผู้ควบคุมงานในข้อ 3 ของแบบ และไม่ได้ยื่นเอกสารรับรองของผู้ควบคุมงานตามข้อ 5(8) ของแบบ จะทำให้คำขออนุญาตและเอกสารที่แนบพร้อมคำขอ ไม่ครบถ้วนหรือไม่
 
คำตอบ: แบบ ข.1 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2528)ฯ หากผู้ยื่นขออนุญาตไม่กรอกข้อความระบุชื่อผู้ควบคุมงานในข้อ 3 ของแบบ ข.1 และไม่ได้ยื่นเอกสารรับรองของผู้ควบคุมงานตามข้อ 5(8) ของแบบ ข.1 ก็ได้ โดยจะไม่มีผลทำให้คำขออนุญาตและเอกสารที่แนบพร้อมคำขอไม่ครบถ้วน ทั้งนี้ โดยผลของมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
 
คำตอบจากกรมโยธาฯ ดังกล่าวทำให้เกิดความชัดเจนว่า สถาปนิก/วิศวกรจะต้องลงลายมือชื่อในแบบแปลนทั้งของตนเองและของสถาปนิก/วิศวกรอื่นด้วย โดยสามารถลงลายมือชื่อในแบบต้นฉบับ(เช่น กระดาษไข)แล้วจึงไปทำสำเนาเอกสาร(เช่น พิมพ์เขียว)ก็ได้
ส่วนเรื่องการแจ้งชื่อผู้ควบคุมงาน ในกรณีที่ไม่ใช่การแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ ผู้ยื่นขออนุญาตไม่จำเป็นจะต้องแจ้งและยื่นเอกสารรับรองของผู้ควบคุมงาน และไม่ต้องกรอกข้อความระบุชื่อผู้ควบคุมงานในแบบฟอร์ม ข.1 โดยไม่เป็นผลให้แบบ ข.1 ไม่ครบถ้วน แต่ทั้งนี้ ผู้ยื่นขออนุญาตจะต้องแจ้งและยื่นเอกสารรับรองของผู้ควบคุมงานหลังจากได้รับใบอนุญาตแล้ว และก่อนที่จะเริ่มการก่อสร้าง

 

 



 

โพสเมื่อ : 2018-09-28
TAG : Law & Regulation News